Friday, September 24, 2010

ปลาหมอ แรมโบลิเวีย (Microgeophagus altispinosus, Bolivian Butterfly Cichlid )

ปลาหมอแรมโบลิเวียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า microgeophagus altispinosa (Haseman, 1911)
มีชื่อทางการค้าว่า Bolivian Butterfly Cichlid
ชื่อ altispinosa เป็นภาษาลาติน แยกออกเป็น 2 คำคือ
Altus แปลว่าสูง และ Spinosus แปลว่าลักษณะที่เป็นหนาม รวมสองคำแล้วแปลว่า “ปลาที่มีครีบกระโดงสูง”
(พิชิต ไทยยืนวงษ์ /มหัศจรรย์พันธุ์ปลาหมอสี พิมพ์ครั้งที่ 1 ISBN 974-90016-2-1 หน้า 82)
โดยเมื่อถูกพบครั้งแรกได้ถูกตั้งชื่อว่า Crenicara altispinosa
ด้วยลักษณะที่คล้ายปลาหมอ รามิเรซ และพบกระจายอยู่ในประเทศ โบลิเวีย จึงถูกตั้งชื่อทางการค้าว่า “ปลาหมอแรมโบลิเวีย”
ลองเอาชื่อวิทย์ของปลาหมอแรมโบลิเวียมาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดู
พบว่าปลาที่สายพันธุ์ดีนั้น สีสันสวยงามกว่าที่คิดไว้มาก
แต่ที่เห็นในบ้านเราจะไม่สวยแบบนี้ อาจเพราะสายพันธุ์ที่ได้มาไม่ดีเพียงพอ
ทำให้ครีบเครื่องครีบต่างๆ ดูหงิกงอ สีสันที่ควรสว่างสดใจ
กลับกลายเป็นเพียงรอยปื้น สีน้ำตาลกระจายไปทั่วลำตัว หัวและหน้าของปลา

อีกประการหนึ่งคือ ฟาร์มที่เพาะพันธุ์ไม่ได้สับสายเลือดของปลา
ทำให้ปลาเลือดชิด ผลผลิตออกมาไม่สวยงามเหมือนที่ตลาดคาดหวังไว้

ปลาหมอแรมโบลิเวียที่สวยนั้น พื้นลำตัวต้องเป็นสีเนื้ออมเทานิดๆ
ส่วนแก้มและแผ่นปิดเหงือกจะมีสีเหลือบฟ้า-เขียวสะท้อนแสง
ตรงช่วงหน้าจนถึงกลางลำตัวควรเป็นสีเหลืองออก ไปจนถึงเหลืองเกือบเข้ม
เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์สีตรงที่ว่านี้จะเข้มขึ้นไปอีก

จนทำให้ผู้ซื้อเอือมระอา หมดอาลัยตายอยาก จนไม่สนใจปลาตัวนี้อีกเลย
บริเวณดวงตาจะมีแถบสีดำพาดผ่านดวงตาทั้งสองข้าง
ตรงกลางลำตัวปรากฏจุดปื้นสีดำขนาดใหญ่ อันเป็นสัญลักษณะของปลาหมออเมริกาใต้หลายๆ ตัว
บริเวณกลางลำตัวช่วงท้าย ไล่ไปจนถึงหางปลาจะมีลายเส้นสีน้ำตาลอ่อนพาดไป-มาจนถึงโคนหาง
เหลือบของเกล็ดเมื่อกระทบแสงแดดที่สาดส่องเข้ามาจะมีเหลือบสีฟ้าบางๆ ดูสวยงามมากทีเดียว

ครีบกระโดงต้องสูง ตรงสง่า ก้านครีบแข็งสามก้านแรกจะมีสีดำสนิท
ส่วนครีบถัดจากนั้นจะมีสีเหลือบเหลือง มีเส้นสีขาวที่ด้านของครีบกระโดง และขลิบด้วยแถบสีชมพูเข้มอีกที
ด้านท้ายสุดของครีบกระโดงจะมีสีออกส้มและมีจุดสีฟ้าสว่าง
ด้านครีบอกจะมีสีชมพูสด ครีบอกจะมีแถบเส้นสีขาว-ฟ้าพาดผ่านประมาณ 4-5 เส้น
ส่วนครีบก้นจะมีสีชมพูเข้ม มีจุดสีขาว-ฟ้า กระจายอยู่ด้านท้ายของครีบ เหมือนช่วงท้ายของครีบกระโดงหลัง
ครีบหางมีลักษณะใส มีก้านครีบพากผ่านไปมาเป็นรูป ตัว วี ในแนวนอน
ขอบบน-ล่างของครีบหางจะมีแถบเส้นสีชมพูเข้มเป็นแนวอยู่ทั้งบนและล่าง
เมื่อปลามีอายุมากขึ้น
เส้นที่ว่านี้จะยาวขึ้นจนเป็นเหมือนเปียสีชมพูเข้มสด ดูน่าหลงใหลมากๆ
ปลาหมอแรมโบลิเวียไม่ใช่ปลาใหญ่โตอะไร ขนาดตัวผู้โตเต็มที่ส่วนใหญ่ก็ราวๆ 3.5 นิ้ว ส่วนตัวเมียเล็กกว่าเล็กน้อย


การแยกปลาเพศผู้-เมียไม่ยากนัก ดูได้จากเครื่องครีบ และสีสันของปลา ที่มีครีบยาว สีเข้ม ก็ตัวผู้
ส่วนตัวที่สีอ่อน เครื่องครีบเล็กและไม่ยาวก็ตัวเมีย
ตัวผู้มักมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนตัวเมียเมื่อพร้อมผสมพันธุ์ส่วนท้องจะอ้วนขึ้น
ผู้เพาะพันธุ์ส่วนใหญ่มักเลี้ยงรวมกันหลายๆ ตัว เพื่อให้ปลาจับคู่

เมื่อปลาจับคู่จะแยกปลาออกมาใส่ไว้ในตู้เพาะ ภายในตู้มีเพียงกรองฟองน้ำ
หาที่หลบซ่อนเพื่อให้ปลารู้สึกปลอดภัยเช่น ขอนไม้ผูกติดกับต้นไม้
จัดวางหินแผ่นเรียบวางลงไปแถวๆ ขอนไม้ หรืออาจจะใช้กระถางดินเผาก็ได้
มื่อปลาทั้งคู่พร้อมผสมพันธุ์แล้ว ปลาทั้งสองจะช่วยกันทำความสะอาดแผ่นหินหรือวัสดุจมใต้น้ำ
ปลาตัวเมียจะวางไข่อย่างเป็นระเบียบก่อน จากนั้นปลาตัวผู้จะเข้ามาฉีดน้ำเชื้อเพื่อให้ไข่เกิดการปฏิสนธิ
กิจกรรมสวาทใช้เวลาซักพัก เมื่อเสร็จสิ้นพ่อปลาจะออกไปเฝ้าระวังภัยรอบๆ
ส่วนแม่ปลาจะเฝ้าบริเวณไข่ และใช้ครีบพัดโบกให้ไข่ได้รับออกซิเจน

แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ถึง 200 ฟอง
การที่เอาขอนไม้วางบังไว้ที่ด้านหน้าของหินที่ปลาวางไข่ เป็นการป้องกันปลาตกใจกินไข่
เนื่องจากเมื่อปลาวางไข่จะค่อนข้างมีการระวังภัยสูง หาสถานที่เพาะพันธุ์มีสิ่งรบกวนมาก
แม่ปลาอาจเครียด และรู้สึกไม่ปลอดภัย จนกินไข่ปลาเสียหมด
การเลี้ยงปลาหมอ แรมโบลิเวีย นั้นไม่ยาก ไม่ง่าย

อันดับแรกเลยคือมักมีคนบอกว่า แรมโบลิเวีย นั้นอยู่ดีๆ ก็ตายจากกันไป
ข้อนี้ผมเคยได้ยิน แต่ไม่เคยประสบกับตัวเองนะครับ
ข้อสังเกตแรกคือ ก่อนซื้อ เราได้ดูสภาพของปลา ขณะที่อยู่ที่ร้านหรือไม่
ว่าสภาพในตู้นั้น น้ำดี มีระบบกรอง สภาพปลาโอเค ไม่หอบ ไม่แอบ ครีบว่ายไม่ห่อ ปลากินและขับถ่ายดีหรือไม่
ก่อนซื้อ ควรถามทางร้านว่า ให้อาหารอะไร ให้ล่าสุดเมื่อไหร่ นั้นจะเป็นตัวบ่งบอกถึงพฤติกรรมของปลาที่เราจะรับมาเลี้ยงได้อย่างดี


ทางที่ดี ขอให้เจ้าของร้านให้อาหารสักเล็กน้อย เพื่อเราจะได้ดูว่าปลาตื่นตัวดีไหม แต่แนะนำให้น้อยๆ พอนะครับ
พอเห็นว่าปลาสภาพดีแล้ว ก็บอกจองเอาไว้ได้เลย เดี๋ยวมาเอา ทิ้งเวลาซัก 3-4 ชั่วโมง
เพราะการขนย้ายปลาในขณะที่ปลาเพิ่งกินนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่ง
เพราะไหนจะต้องโดนไล่ตัก ใส่ถุง อัดอ๊อก และถูกเราหิ้งปุเลง ปุเลง ไป-มา
กว่าจะได้ปล่อยปลามีหวังปลาคงท้องอืด เครียด และไม่พร้อมสำหรับการปรับตัวแน่ๆ ครับ

ขอให้น้ำสะอาดเหมือนการเลี้ยงปลาเล็กทั่วๆไป นักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ชอบเลี้ยงปลาชนิดนี้ในตู้พรรณไม้น้ำที่หนาแน่นซักหน่อย
มีที่หลบซ่อนให้ปลา แต่จะเลี้ยงในตู้ที่ไม่มีต้นไม้น้ำก็ได้เช่นกัน
ใส่ขอนไม้ กระถางดินเผา หินหลายๆ ขนาดลงในตู้ก็ย่อมได้
ในธรรมชาติ ปลาหมอแรมโบลิเวียกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่นตัวอ่อนของแมลงน้ำ ที่อยู่ในสายน้ำรวมไปถึงพวกที่ซุ่มซ่อนในพื้นทราย

พฤติกรรมที่น่ารักในการหากินของมัน ทำให้ผู้เลี้ยงต่างหลงใหลกับวิธีการหาอาหารของมัน
ปลาหมอแรมโบลิเวียมักจะจิกกินอาหารต่างๆ ตามเศษซากใบไม้ ขอนไม้ใต้น้ำ
หากอาหารอยู่ใต้พื้นทราย มันมักจะใช้วิธีจิกลงไปทั้งทรายแล้วร่อนทรายออกจากปาก และเหงือก ส่วนอาหารนั้นจะถูกแยกลงคอไป
พฤติกรรมนี้เหมือนปลาหมอในกลุ่ม Eartheater ทั้งหลายที่เชื่อว่าผู้ที่หลงใหลปลาหมอในกลุ่มอเมริกาใต้ต้องเคยเลี้ยงเป็นแน่

ใน ที่เลี้ยงเราสามารถให้อาหารสำเร็จรูปได้เลย ปลามักจะไม่ปฏิเสธ การให้อาหารควรให้แต่เพียงน้อย ให้เยอะปลาอาจตะกละกินเข้าไปมากจนทำให้ท้องอืดได้
อาหารสดปลานั้นชอบมาก แต่ควรล้างทำความสะอาดให้ดีๆ



เครดิต
คุณ ป_ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย)
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=plaraberd&month=03-10-2009&group=1&gblog=19
http://www.ninekaow.com/wbs/?action=view&sub=05&id=0003298

Friday, September 10, 2010

กุ้ง red bee ชื่อนี้ที่เรื่องมาก



Red Bee Shrimp
เมื่อพูดถึง กุ้งแคระ สวยงามแล้ว พวกมันเพิ่งได้รับความนิยมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนคงนึกถึงกุ้งเชอรี่เป็นอันดับแรก เพราะเป็นกุ้งแคระชนิดแรกๆ ที่ได้นำเข้ามาในบ้านเรา กุ้งเชอรี่นอกจากจะมีสีแดงสวยงามดังชื่อแล้ว ยังสามารถเพาะพันธุ์ได้ง่ายอีกด้วย กุ้งแคระที่ได้รับความนิยมมีอีกหลายสายพันธุ์ อาทิเช่น Tiger Shrimp, Bee Shrimp, Blue Shrimp, Green Shrimp, และ Blackberry Shrimp, ซึ่งแต่ละชนิดมีเอกลักษณ์ที่สวยงามไม่แพ้กันเลย และมีกุ้งแคระอีกชนิดหนึ่งที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งเจ้ากุ้งแคระตัวนี้ เรียกได้ว่าเป็นราชาของกุ้งแคระเลยทีเดียว นอกจากจะสวยที่สุดในบรรดากุ้งแคระด้วยกันแล้ว ยังเรื่องมากที่สุดและราคาแพงที่สุดด้วยครับ ราชาที่ว่านี้คือ เจ้า เรดบี นั่นเอง ( Red Bee Shrimp )

ประวัติความเป็นมาของ Red Bee Shrimp

กุ้งเรดบี ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อประมาณ 10 ที่แล้วในประเทศญี่ปุ่น โดย Mr.Hisayasu Suzuki. บุคคลคนนี้ได้นำกุ้งบีธรรมดา (Bee Shrimp "Caridina serrata") มาผสมพันธุ์กันโดยใช้หลักการผสมพันธุ์แบบสายเลือดชิด (Inbreed) เราสามาถรถพบ Bee Shrimp ได้ตามลำธารทางตอนใต้ของประเทศจีน Bee Shrimp และกุ้งแคระในตระกูล "Caridina" เมื่อโตเต็มที่จะยาวเพียง 3-4 เซนติเมตรเท่านั้น ลักษณะโดยทั่วไปของ Bee Shrimp ลำตัวจะสั้นป้อม มีตั้งแต่สีน้ำตาลเข้ม สีดำไปจนถึงสีดำเหลือบน้ำเงิน มีปล้องสีขาวจางๆ สลับใส ตรงปลายส่วนหัวบริเวณกรีกลางลำตัว และอาจมีบ้างบริเวณปลายหาง

Mr.Suzuki ได้ทดลอง Inbreed กุ้ง bee Shrimp หลายพันตัว เป็นเวลานานกว่า 6 ปี เสียเงินลงทุนไปกว่า 8,000,000 เยน (หรือกว่า 3,000,000 บาท) จนได้กุ้ง Bee ที่มีลักษณะลำตัวเป็นสีแดงสลับกับปล้องใส จึงเป็นที่มาของชื่อ Crystal Red Shrimp (CRS) จากนั้นต่อมาจึงมีการน้ำเจ้า CRS มาพัฒนาสายพันธุ์ต่อให้มีสีขาวที่ชัดเจนขึ้น และมีแถบสีขาวที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ เราเรียกกุ้งที่พัฒนาจาก CRS ว่า RedBee ราคาของเจ้าเรดบีขึ้นอยู่กับการแยกเกรด เราสามารถแบ่งเกรดของกุ้งได้จากความแดงของปล้องสีแดง ความหนาแน่นของเม็ดสีขาว และแถบสีขาวที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่เกรดต่ำที่สุด คือ เกรด D (เกรดนี้คือเจ้า CRS ที่กล่าวในข้างต้นนั่นเอง) ต่อมาก็เป็นเกรด C, B, A และ S นับจากเกรด S นี้ สีแดงของกุ้งจะชัดเจน แถบสีขาวมีมากขึ้นและจะเริ่มพัฒนาต่อไปอย่างเห็นได้ชัดจากเกรดนี้ ต่อจากนั้นยังสามารถแยกกุ้งเกรด S ออกเป็น Level ต่างๆ ได้อีก 5 Level โดยเริ่มนับจาก Level 1 ไปจนถึง Level 5 (ในประเทศญี่ปุ่นจะแบ่งเกรดเป็น Normal Grade, S Grade และสูงสุด SS Grade ตัวไหนมีจุดเด่นยังไงราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามนั้น และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมจึงขอใช้อีกวิธีที่กล่าวไปแบ่งเกรดกุ้งให้ละเอียดและเห็นภาพได้ชัดขึ้นนะ ครับ) และในอนาคตอันใกล้ยังจะมีการพัฒนา Level ขึ้นไปเรื่อยๆ ราคาของ เรดบี เริ่มตั้งแต่ 100 กว่าบาทไปจนถึงหลักแสน เช่น Level 5 ที่ราคาสูงสุดในขณะนี้คือ 300,000 เยน (กว่า 100,000 บาท) หลายคนที่อ่านมาถึงตอนนี้คงสงสัยว่า 300,000 เยนนี้ สามารถซื้อกุ้ง Level 5 ได้กี่ตัว คำตอบคือ "ตัวเดียว" ครับ....
Chart สำหรับเทียบเกรด Red Bee

Chart สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ Red Bee

ทำไมกุ้งตัวกระจิ๊ดเดียวถึงได้มีราคาแพงลิบลิ่วอย่างนี้ แล้วที่ตั้งราคาขนาดนี้มีคนซื้อหรือไม่ หรือว่าแค่ตั้งราคาไว้ให้ดูหรูหราเท่านั้นเอง คำตอบคือในขณะนี้มันเป็นที่นิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น หรืออาจเรียกได้ว่ามันเป็นที่หนึ่งแซงหน้าปลาหลายชนิดไปแล้ว เห็นได้ชัดจากนิตยสารปลาสวยงามของญี่ปุ่นแทบทุกฉบับ มีเรดบีลงหน้าปกเกือบทุกเดือน และลงบทความข้างในอย่างต่อเนื่องกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ กุ้งเรดบี ออกมาจำหน่ายมากมาย อาทิเช่นน้ำยาสำหรับเรดบี ดินสำหรับเลี้ยงเรดบี อาหารสำหรับเรดบี น้ำแร่สำหรับเรดบี ฯลฯ อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนมากมีพื้นที่จำกัดในการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นเจ้าเรดบีที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก บวกกับสีสันของมันที่ละม้ายคล้ายกับสีธงชาติญี่ปุ่นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ของความนิยม ลายบนตัวของเจ้าเรดบีในแต่ละตัวนั้น มีเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกัน ยิ่งมีสีขาวชัดและมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาก็ขยับสูงขึ้นไปตามนั้น ในความคิดของผม คิดว่าคนญี่ปุ่น มองเจ้าเรดบีเป็นศิลปะที่มีชีวิตครับ พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ ที่ละเอียดอ่อน บอบบางและบางคนอาจมองข้ามมันไป... การที่เราสามารถเลี้ยงพวกมันให้มีความสุข มองดูพวกมันออกลูกออกหลาน ก็เป็นเหมือนกันสร้างสรรค์งานศิลปะที่น่าภูมิใจอีกชิ้นหนึ่ง (ว่าไปนั่น) ในอีกมุมมองพวกมันก็เหมือนดั่งปลาคาร์พโคฮากุย่อส่วนลงมา ซึ่งราคาก็ไม่แตกต่างกันเลย (แต่ขนาดแตกต่างกันมาก อิ อิ)

สาเหตุ ที่พวกมันมีราคาแพงและเลี้ยงยาก (มากๆ) ก็มีอยู่หลายสาเหตุครับ เรดบีไม่ใช่กุ้งป่าที่จับและรวบรวมจากธรรมชาติ แต่เป็นกุ้งที่ได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์ในที่เลี้ยงอย่างพิถีพิถัน มีการควบคุมคุณภาพน้ำและดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ อย่างที่กล่าวเอาไว้ในข้างต้น กุ้งเรดบีไม่สามารถดำรงชีวิตได้ในธรรมชาติ เพราะเรดบีเป็นกุ้งที่เปราะบางมาก ไม่ถูกกับสารเคมีทุกชนิดและเช่นเดียวกับกุ้งชนิดอื่นๆ คือชอบน้ำที่สะอาดและมีปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำสูง เรดบีชอบค่าน้ำเป็นกรดอ่อนๆ ค่า pH อยู่ที่ 6.2 - 7.2 ไม่ควรสูงหรือต่ำเกินกว่านี้ เพราะอาจเป็นอันตราต่อกุ้งครับ ค่า pH ที่เหมาะสมที่สุดเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ pH 6.5 และเจ้าพวกนี้ก็ชอบน้ำที่เป็นน้ำอ่อนเช่นกัน ค่า KH ของน้ำควรอยู่ที่ 3-6 น้ำในตู้ต้องปราศจากซึ่งไนไตรท์และไนเตรทตลอดเวลา จึงต้องใช้เครื่องกรองที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้พวกมันยังต้องการอุณหภูมิน้ำที่ค่อนข้างเย็นซักหน่อย คือระหว่าง 22 - 25 ํ C สำหรับประเทศเมืองร้อนอย่างเราจึงควรใช้ชิลเลอร์เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่ อยู่เสมอ แล้วเรื่องการเจริญพันธุ์ของพวกมันล่ะ พวกมันถูกเพาะขึ้นมาในที่เลี้ยง แล้วจำนวนของมันน่าจะมีเยอะนะ? สำหรับกุ้งแคระชนิดอื่นๆ เช่น กุ้งแคะเชอรี่สามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วครับ แต่สำหรับเจ้าเรดบี ภายใต้การควบคุมคุณภาพของน้ำเป็นอย่างดี ผลผลิตที่ได้ต่อตัวยังมีน้อยมาก ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ด้วยกว่าสมบูรณ์เพียงใด บางตัวเห็นมีไข่เต็มท้อง แต่อัตราการฟักตัวและการรอดของลูกกุ้งนั้น ไม่ได้เป็นไปตามจำนวนไข่ที่เห็นครับ ในเกรดธรรมดานั้นอัตราการรอดอาจเรียกได้ว่า 50 - 70 % หรือถ้าเป็นเกรดสูงๆ เช่น Level 5 ในแม่กุ้งหนึ่งตัวต่อหนึ่งครอกนั้น จะมีลูกกุ้งเพียง 1-2 ตัวเท่านั้นที่จะรอดและเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป กุ้งเรดบีสวยๆ เกรดสูงๆ ที่เห็นลงตามแมกกาซีนญี่ปุ่นต่างๆ ในปัจจุบัน ความจริงแล้วมีจำนวนน้อยมากๆ ครับ อาจจะมีเพียงไม่กี่ร้อยตัวเท่านั้น เมื่อนับรวมจากทั่วโลก อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายๆ คนคงถอนหายใจและเริ่มหวั่นวิตกว่า ทำไมเจ้าเรดบีมันถึงแพงและเรื่องมากมหาโหดขนาดนี้ อย่าเพิ่งท้อนะครับ การควบคุมคุณภาพน้ำ การควบคุมค่าต่างๆ ไม่ยากเย็นอย่างที่คิดครับ ผมมั่นใจว่าความสวยงามบาดใจของมัน คงชนะใจเพื่อนๆ ไปหลายคนแล้ว เราทราบประวัติโดยสังเขปของพวกมันไปแล้ว คราวนี้มารู้วิธีเลี้ยงพวกมันบ้างว่ามีอะไรบ้างและต้องเตรียมตัวอย่างไร


พื้นฐานในการเลี้ยง Red Bee Shrimp

ในบรรดากุ้งแคระทั้งหมด เจ้าเรดบีนับว่าเป็นกุ้งที่เลี้ยงยากที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกุ้งปราบเซียนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจที่จะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ จึงควรมีพื้นฐานบางประการ เพื่อที่จะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ได้อย่างมีความสุข

1. พื้นฐานในการเซ็ทตู้ไม้น้ำ
การเลี้ยงกุ้งเรดบี จำเป็นต้องมีพื้นฐานในการเลี้ยงไม้น้ำมาก่อนจะดีมากครับ ทั้งนี้ในการเลี้ยงเรดบีควรปลูกไม้น้ำให้พวกมันด้วยครับ เพราะระบบนิเวศน์ที่ดีต้องมีทั้งพืชและสัตว์ที่ต้องเกื้อกูลกัน ทั้งใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว ช่วยลดความเครียด และไม้น้ำยังอยู่ในกระบวนการย่อยสลายไนเตรท์ ไนเตรทของเสียที่เกิดจากกุ้งด้วยครับ

2. พื้นฐานในการเลี้ยงกุ้งแคระ
กุ้งแคระมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ครับ มีทั้งเลี้ยงง่ายและเลี้ยงยาก มีทั้งที่ชอบค่า pH สูง (เป็นด่าง) และชอบ pH ต่ำ (เป็นกรด) เรดบีเป็นกุ้งที่ชอบค่า pH ต่ำครับ และเป็นกุ้งแคระที่เลี้ยงยากที่สุด เรื่องมากที่สุด แต่ก็เป็นกุ้งแคระที่สวยที่สุด ดังนั้นการมีพื้นฐานในการเลี้ยงกุ้งแคระที่เลี้ยงง่ายก่อน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจนิสัยและลักษณะความเป็นอยู่ของพวกมัน กุ้งแคระที่เลี้ยงง่ายและเป็นที่นิยมมีหลายชนิด เช่น Cherry, Tiger, Blue, Bee, Green เป็นต้น เช่นเดียวกับการก้าวขึ้นบันได หากเราก้าวข้ามขั้นไปอาจพลาดพลั้งตกลงมาได้ครับ การค่อยเป็นค่อยไปและเดินไปทีละขั้น จึงเป็นการกระทำที่คุ้มกับความพยายามที่สุด

3. มีกำลังใจและความชื่นชอบอย่างแท้จริง
ถ้าหากขาดสองสิ่งนี้ไป การเลี้ยงกุ้งเรดบีคงไม่สำเร็จแน่ๆ และกว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ มีกุ้งเรดบีหลายชีวิตได้สูญเสียไป หากไม่ใช่เพราะความชื่นชอบและตั้งใจจริง ผมคงเลิกล้มความตั้งใจไปนานแล้ว ชีวิตน้อยๆ ที่ได้สูญเสียไป คงไม่สูญเสียไปอย่างไร้ประโยชน์ แต่กลายมาเป็นบทความ เป็นประโยชน์ให้เพื่อนๆ ...เท่านี้ก็บรรลุความตั้งใจของผมแล้วครับ

อุปกรณ์ที่สำคัญและวิธีการเลี้ยง Red Bee Shrimp

1. ตู้เลี้ยง
ควรมีขนาด 24" ขึ้นไปครับ จากข้อมูลเบื้องต้นที่เราทราบกันไปแล้วว่ากุ้งเรดบีเป็นกุ้งที่มีความเปราะ บางและไวต่อสารเคมีต่างๆ ดังนั้น เมื่อตู้ที่มีขนาดใหญ่เท่าใดก็สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้นเท่านั้น กุ้งเรดบีเป็นกุ้งขนาดเล็ก ขนาดเพียง 3-4 เซนติเมตรเท่านั้น แต่พวกมันก็ต้องการพื้นที่ในการว่ายน้ำที่กว้างขวาง และเพื่อคุณภาพน้ำที่ดีอยู่เสมอ
===> ตู้ขนาด 24" สามารถเลี้ยงกุ้งเรดบีได้กี่ตัว? **** 30 ตัวหรือมากที่สุดก็น่าจะซัก 60 ตัว ถ้าระบบตู้ของคุณพร้อมและสมบูรณ์จริงๆ ****

2. วัสดุรองพื้นตู้ - วัสดุรองพื้นปลูก
การปลูกไม้น้ำในตู้เรดบีมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นที่หลบซ่อนตัวและลดความเครียดให้กุ้งแล้ว ยังช่วยเติมเต็มวัฏจักรของแบคทีเรียอีกด้วย วัสดุปลูกที่นิยมที่ใช้กับตู้เรดบีคือ ดินภูเขาไฟ ดินภูเขาไฟที่ผมแนะนำที่ยี่ห้อ ADA ชนิด Amazonia (หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายไม้น้ำในจตุจักรพลาซ่าและร้านขายไม้น้ำชั้นนำทั่ว ไปครับ) ดินภูเขาไฟนอกจากจะช่วยให้ไม้น้ำที่ปลูกเจริญงอกงามดีแล้ว ในดินภูเขาไฟยังสามารถลดค่า pH และ KH ได้ด้วยครับ แต่ข้อเสียของดินภูเขาไฟอยู่ที่เมื่อใช้นานเข้ามันจะเกิดการยุบตัวลง (แต่ผมใช้มานานกว่า 3 ปี ทำไมไม่มีปัญหาอะไรเลย) เคล็ดลับของผมก็คือ (จริงๆ ไม่ลับหรอกครับ) ผมใช้ ADA Powersand ชื่อนี้เพื่อนๆ หลายคนคงสงสัยว่า มันเป็นทรายอะไร มันไม่ใช่ทรายหรอกครับ มันคือหินพิมมัสขนาดเล็กนั่นเอง ส่วนของยี่ห้อ ADA จะมีการผสมแบคทีเรียและอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วัตถุประสงค์คือการช่วยยืดอายุการใช้งานของดินและช่วยให้ออกซิเจนไหลผ่าน ชั้นดินด้วยครับ

3. เครื่องกรองและไส้กรอง
สำหรับการเลี้ยงเรดบี เครื่องกรองที่กรองได้มีประสิทธิภาพที่สุดนั้นคือ กรองนอกครับ กรองนอกมีหลายยี่ห้อ หลายขนาด หลายราคาให้เลือกใช้ ผมไม่เจาะจงที่ยี่ห้อใดครับ เพียงแต่เลือกกรองที่รองรับปริมาณน้ำไหลผ่านได้มากขึ้นกว่ามาตรฐานของตู้เรา หน่อยครับ กรองนอกจะมีพื้นที่ในการกรองมาก สะดวกในการทำความสะอาดและไม่รบกวนภายในตู้ ยิ่งไปกว่านั้น กรองนอกยังสามารถเลือกใส่ไส้กรองได้หลากหลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองให้ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วย ไส้กรองนับเป็นสิ่งสำคัญทีเดียวครับ เพราะถึงแม้เครื่องกรองจะแพงและดีซักแค่ไหน แต่ไส้กรองไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่มีประโยชน์อะไรครับ ไส้กรองนอกจากจะมีหน้าที่กรองสิ่งปฏิกูลแล้ว ยังเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในกระบวนการย่อยสลาย และกำจัดเคมี, แอมโมเนีย, ไนไตรท์ และไนเตรทอีกด้วย ไส้กรองที่ห้ามใช้เด็ดขาดคือปะการัง เพราะปะการังจะทำให้ pH ขึ้นไปสูงมาก อาจสูงถึง pH 11 ในเศษปะการังใหม่ ไส้กรองจากประเทศญี่ปุ่นมีคุณสมบัติช่วยลดค่า pH ด้วยนั้นมีราคาที่สูงมาก ผมจึงขอผ่านสำหรับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ไส้กรองที่แนะนำควรเป็นเซรามิคริง และ Substrate Pro เพราะมีรูพรุนที่มากขึ้น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียที่มากขึ้น ประสิทธิภาพในการกรองก็จะมากขึ้นตาม นอกจากนี้ถ่านคาร์บอนที่ใส่ในเครื่องกรองก็สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งช่วยดูดสี ดูดกลิ่นแล้วยังช่วยดูดสารอาหารหรือปุ๋ยส่วนเกินในน้ำอีกด้วยครับ ข้อสำคัญในการทำความสะอาดเครื่องกรองก็ไม่ควรมองข้ามครับ ในการล้างเครื่องกรองในแต่ละครั้ง ควรจำไว้ว่าห้ามใช้น้ำประปาล้างเด็ดขาด ควรใช้น้ำเก่าจากตู้ชะล้างคราบสกปรกออกจากชั้นกรองแต่ละชั้นเท่านั้น เพราะน้ำประปาจะทำลายอาณาจักรแบคทีเรียในกรองทั้งหมดภายในพริบตา และการล้างกรองไม่ควรล้างบ่อยครับ อาจถอดล้าง 3 เดือนครั้ง แต่ใยแก้วและฟองน้ำควรเปลี่ยนทุกๆ อาทิตย์ครับ
อุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งที่ใช้คู่กับเครื่องกรองนอกคือ ฟองน้ำที่ใช้ครอบท่อน้ำออก (ท่อน้ำที่ดูดน้ำจากตู้มาเข้าเครื่องกรองครับ) ส่วนปลายของท่อน้ำออกจะมีตะกร้อเพื่อดักเศษใบไม้ไม่ให้เข้าไปในเครื่องกรอง อีกที ตรงบริเวณนี้เราควรหาฟองน้ำมาสวมครอบตะกร้อไว้อีกที (เป็นฟองน้ำสำหรับสวมทับตะกร้อโดยเฉพาะ เท่าที่ผมเดินหาซื้อน่าจะมีที่ร้าน White Crane ครับ) ฟองน้ำนี้มีหน้าที่ป้องกันเจ้าเรดบี และลูกๆ ของมันไม่ให้ถูกดูดเข้าไปในเครื่องกรอง และควรทำความสะอาดฟองน้ำดังกล่าวทุกอาทิตย์ด้วยครับ

4. เครื่องทำความเย็น (Chiller)
Chiller เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญทีเดียวในการเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน อุณหภูมิตู้อาจสูงถึง 30 ํ C โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนของเดือนเมษายนแล้ว อุณหภูมิอาจสูง 32 ํ C ได้เลยครับ เครื่องปรับอากาศสามารถช่วยลดอุณหภูมิได้ช่วงหนึ่งเท่านั้น และส่วนมากเมื่อคุณไม่อยู่บ้าน มักจะปิดเครื่องปรับอากาศเสมอ คำถามสุดฮิตคือ เรดบีสามารถดำรงชีวิตในอุณหภูมิที่สูงกว่า 27 องศาได้หรือไม่ ผมตอบได้เลยครับว่า ได้แน่นอน แต่การเจริญเติบโต, สีสัน, อายุขัยและการเจริญพันธุ์จะด้อยลงตามสภาพแวดล้อมที่เราจัดให้พวกเค้าอยู่ ครับ
อุณหภูมิช่วงที่ดีที่สุดสำหรับเรดบีคือ 22-25 ํ C หักลบไม่เกินไปกว่านี้ ซึ่งอุปกรณ์ที่สามารถคงระดับของอุณหภูมิไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ชิลเลอร์ครับ ส่วนพัดลมนั้นสามารถลดอุณหภูมิได้ 1-2 ํ C เท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามันสามารถลดอุณหภูมิตู้คุณได้มากที่สุดคือประมาณ 27-28 ํ C เท่านั้น จากประสบการณ์ของผม กุ้งเรดบีเกรดธรรมดาสามารถดำรงชีวิตได้ในอุณหภูมิเช่นนี้ แต่ความสมบูรณ์เมื่อกุ้งต้องการเจริญพันธุ์นั้น นับได้ว่ามีความสมบูรณ์น้อยมาก จะเห็นได้ชัดว่ากุ้งไม่เจริญอาหาร และชอบแอบซ่อนตัว ยิ่งถ้าเป็นกุ้งเกรดสูงๆ ขึ้นไป คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงเป็นแน่แท้ กุ้งในอุณภูมิ 27 องศาขึ้นไป สามารถท้อง และไข่สามารถฟักเป็นตัวได้ครับ แต่อัตราการรอดนั้น มีเพียง 5-10% เท่านั้น ลูกกุ้งส่วนมากที่ฟักออกมาได้ โดยมากจะตายหรือหายสาปสูญไปในอาทิตย์แรก แตกต่างกับตู้ที่มีการติดชิลเลอร์ แม่กุ้งจะแข็งแรง และสังเกตได้ชัดว่ามีไข่เยอะมาก อัตราการฟัก มีถึง 70-80% ลูกกุ้งเจริญอาหารและเติบโตได้รวดเร็ว และนี่คือข้อดีของชิลเลอร์ในการเลี้ยงเรดบี ซึ่งนับได้ว่าสมควรมีอย่างยิ่ง ถ้าใจรักที่จะเลี้ยงพวกเค้าครับ ชิลเลอร์มีหลายยี่ห้อ หลายขนาด หลายราคาครับ ผมไม่ขอเจาะจงยี่ห้อใดๆ ครับ หลักในการเลือกซื้อก็เหมือนเครื่องกรองนอกครับ คือเลือกขนาดที่รองรับน้ำในตู้ของเราให้มากกว่ามาตราฐานสักเท่าหนึ่ง เพื่อที่เครื่องชิลเลอร์จะไม่ต้องทำงานตลอดเวลาและสามารถช่วยยืดอายุการใช้ งานครับ

5. ระบบไฟ - ระบบแสงสว่าง
ระบบไฟในตู้เรดบี นอกจากจะช่วยให้เจ้าเรดบี อวดสีสันได้ชัดเจนขึ้นแล้ว ยังใช้ให้ต้นไม้ที่ปลูกในตู้เรดบีสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตอีกด้วย ผมขอแนะนำต้นไม้ที่นิยมปลูกในตู้เรดบี อาทิเช่นมอสต่างๆ หรือไม้ข้อ (Stem Plant) ชนิดที่เลี้ยงง่ายๆ เช่นโรท่าร่าต่างๆ พวกมันต้องการแสง 20 วัตต์ เพียงสองหลอดเท่านั้น ก็สามารถเจริญงอกงามได้ ยิ่งถ้าใช้ดินภูเขาไฟเป็นพื้นปลูกด้วยแล้ว ไม้น้ำที่ว่ากันว่าต้องการทั้งปัจจัยแสงที่จัดและคาร์บอนที่สูงนั้น กลับขึ้นสวยงามในสภาวะจำกัดอย่างน่าแปลกใจ ยกตัวอย่างเช่น กลอสโซ (Glossositgma elatinoides)

6. อาหารและอาหารเสริม
เราควรมีตำแหน่งหรือบริเวณที่ให้อาหารกุ้งอย่างเป็นสัดส่วนครับ เพราะอาหารที่เราให้เรดบีจะเป็นอาหารชนิดจมน้ำทั้งหมด เวลาอาหารแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน อาจโดนกระแสน้ำพัดกระจายไปติดอยู่ตามซอกมุมที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ ควรหาภาชนะขนาดเล็ก เช่น ถ้วยน้ำจิ้มเล็กๆ หรือจานรองแก้วเล็กๆ ผมไม่จำกัดว่าทำมาจากวัสดุใดครับ ใส่ได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นดินเผาหรือเซรามิค แต่ที่ใช้แล้วรบกวนบรรยากาศภายในตู้น้อยที่สุดคือภาชนะที่ทำจากแก้วครับ
อาหารสำหรับกุ้งเรดบีที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้นแทบไม่มี เลย จะมีบ้างที่ร้านค้าหิ้วมาเองจากประเทศญี่ปุ่น นั่นคืออาหารเรดบี Shirakura ซึ่งมีส่วนผสมของผักปวยเล้งด้วย แต่เราก็สามารถให้กุ้งเรดบีของเรากินอาหารสำเร็จรูปของปลาแพะหรือปลา ซัคเกอร์ก็ได้ครับ และจากประสบการณ์ของผม Hikari Sinking Carnivore Pellets เป็นอาหารโปรดของเรดบีเลยทีเดียว นอกจากนี้ผักปวยเล้งลวก ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูเด็ดที่โปรดปรานของเรดบีเช่นกันครับ เราควรให้ผักปวยเล้งลวกอาทิตย์ละครั้ง อีกเมนูหนึ่งที่จะแนะนำแต่ไม่ควรให้บ่อยมาก นั่นคือ หนอนแดงแช่แข็ง เพราะปลอดภัยจากเชื้อโรคที่ชอบมากับอาหารสดและเราควรดูดเศษอาหารที่กุ้งกิน เหลือวันต่อวันให้เป็นนิสัยนะครับ เพื่อคุณภาพน้ำที่ดีเสมอ

7. Montmorilonite
น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งเรดบี เพื่อความสะดวกส่วนมากเราใช้น้ำประปาที่ผ่านการกรองและบำบัดคลอรีนเรียบร้อย แล้ว ในประเทศญี่ปุ่นกุ้งเรดบีเกรดสูงที่มีค่าตัวหลายแสนเยน ผู้เลี้ยงจึงต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในเรื่องน้ำที่ใช้เปลี่ยนอีกด้วย ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์น้ำแร่สำหรับกุ้งเรดบีโดยเฉพาะ ในช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มเลี้ยงเรดบี ผมใช้น้ำแร่เปลี่ยนให้ทุกๆ อาทิตย์ และได้สังเกตเห็นในเมกกาซีนกุ้งเรดบีทุกฉบับ จะต้องมีก้อนสีขาวๆ วางอยู่ในตู้ด้วยทุกครั้ง ผมจึงเริ่มหาข้อมูลว่าก้อนสีขาวๆ นั่นคืออะไร คำตอบคือ Montmorilonite หินที่เกิดจากขี้เถ้าภูเขาไฟ (Volcano ash) จากแหล่งน้ำแร่ร้อนของประเทศญี่ปุ่น และสามารถพบได้อีกหลายแหล่งทั่วโลก มีทั้งในรูปแบบผลึก, หิน, โคลน หรือโคลนร้อน เช่น โคลนจากทะเลสาป Dead Sea ก็เป็น Montmorilonite อีกรูปแบบหนึ่ง หินชนิดนี้มีส่วนประกอบหลักเป็นแคลเซียมและโซเดียม นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย ซิลิคอน แมกนีเซียม ไฮโดรเจนและเหล็กอีกด้วย แคลเซียมและสารประกอบต่างๆ นี้เอง ที่ช่วยในกระบวนการสร้างเปลือกของกุ้ง ช่วยทำให้ส่วนที่เป็นสีขาว มีสีขาวที่สดขึ้น (แต่ไม่ได้เพิ่มความหนาของเม็ดสีแต่อย่างใด) และคุณสมบัติที่น่าทึ่งขอ Montmorilonite อีกอย่างหนึ่งก็คือช่วยดูดซับสารพิษ โดยเฉพาะโลหะหนัก จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทางการแพทย์และเครื่องสำอางค์เลือก Montmorilonite ในการบำบัดรักษาโรคอีกด้วย สำหรับตู้กุ้งเรดบีการใส่หินชนิดนี้ลงไป จึงเป็นการบำบัดคุณภาพน้ำ เพื่อให้ปลอดซึ่งสารพิษและโลหะหนักอีกด้วย
หินชนิดนี้แยกได้หลายชนิด แบ่งตามสีซึ่งมีตั้งแต่สีขาว สีเทา สีเหลือง สีเขียวหรือสีชมพู แต่ที่นิยมใช้กับกุ้งเรดบีมีสองแบบ คือ แบบสีเทาและแบบสีขาว ผมขออนุญาตเรียกว่า White และ Grey Stone เพื่อความสะดวกครับ หินชนิดนี้มีจำหน่ายในวางการปลาสวยงามประเทศญี่ปุ่นอย่างแพร่หลาย โดยก่อนที่จะมีกุ้งเรดบี หินชนิดนี้ใช้ในวงการปลาคาร์พเกรดสูง เพื่อสุขภาพที่ดีของปลา ช่วยในด้านสีสันและช่วยบำบัดสารพิษ โลหะหนักในน้ำ ฟาร์มปลาคาร์พบางฟาร์มนิยมใช้ Montmorilonite แบบผงหรือแบบโคลนโรยที่ก้นบ่อดิน Montmorilonite แบบก้อนในบ่อปูนโดยใส่ไว้บริเวณบ่อกรอง สำหรับตู้เรดบีเรานิยมใส่ไว้ในตู้เลย สารประกอบจะค่อยๆ ละลายออกมาเอง สำหรับชนิดสีขาวจะมีความเปราะแตกง่ายเมื่อโดนน้ำ จึงควรหาภาชนะวางอีกทีเพื่อความสวยงามสำหรับชนิดสีเทาควรนำมาผ่านน้ำก่อน เพราะมีเศษผงติดอยู่จำนวนมาก จำนวนที่ใช้ถ้าเป็นแบบสีขาวก้อนเล็กๆ ประมาณนิ้วโป้ง ใช้ 10-15 ก้อน สำหรับตู้ 24" และแบบสีเทาปกติจะมีขนาดก้อนเท่ากำปั้นใช้เพียง 1 ก้อน สำหรับตู้ 24" Montmorilonite ในปริมาณที่แนะนำจะไม่มีผลต่อค่า pH แต่อย่างใด

8. แบคทีเรียสำเร็จรูปและการเซ็ทตู้กุ้ง
การเซ็ทตู้กุ้งเรดบีนั้น ควรทำอย่างช้าๆ และใจเย็นๆ เพื่อให้ระบบแบคทีเรียเซ็ทตัวและทำงานอย่างสมบูรณ์ ในช่วงที่เซ็ทตู้ใหม่นี้ วัฎจักรของไนเตรท แอมโมเนียที่เกิดจากเศษไม้น้ำที่เน่าสลาย ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่รวมทั้งแบคทีเรียในเครื่องกรองและในชั้นดินยังมีไม่มาก พอ เราจึงควรเติมแบคทีเรียสำเร็จรูปลงไป เพื่อช่วยเร่งกระบวนการของแบคทีเรีย แบคทีเรียสำเร็จรูปมีหลายชนิด ผมขอแนะนำแบคทีเรียที่สามารถซื้อได้ในประเทศไทย (เพื่อนๆ อาจดัดแปลงใช้ยี่ห้ออื่นได้ครับ) แบคทีเรียยี่ห้อ ADA สองชนิดคือ Green Bacter แบคทีเรียแบบน้ำ ใช้เติมกรณีเซ็ทตู้ใหม่และเติมทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนน้ำ และ Bacter Ball แบคทีเรียแบบเม็ด ใช้ใส่ในเครื่องกรองเพื่อช่วยเร่งระบบแบคทีเรีย หรือใส่ลงในตู้กุ้ง เมื่อตู้เซ็ทได้สองเดือนขึ้นไปแล้ว เพื่อช่วยให้ระบบแบคทีเรียในชั้นดินสมบูรณ์ และช่วยให้ระบบย่อยอาหารของกุ้งมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เฉลี่ยแล้วในการเซ็ทตู้เลี้ยงกุ้งเรดบี คือ 2-3 อาทิตย์ไปจนถึง 1 เดือน ระหว่างการเซ็ทตู้ควรเปลี่ยนน้ำสองหรือสามวันครั้ง ครั้งละ 20-30% ทุกๆ 5 วันหรือ 1 อาทิตย์ เพื่อคุณภาพน้ำที่ดีอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ควรทำเป็นนิสัยคือดูดเศษอาหารกุ้งกินเหลือทิ้งทุกวันเพื่อป้องกัน ตัวพานาเรีย (มีลักษณะคล้ายปลิงขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร จะปรากฏขึ้นเมื่อคุณภาพน้ำเริ่มแย่ หรือมีเศษอาหารที่กุ้งกินเหลือ และไม่ทำความสะอาดเป็นประจำ)

และ ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลในการเลี้ยงกุ้งเรดบีโดยสังเขปครับ ยังมีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงเจ้ากุ้งชนิดนี้ ในการจะเลือกซื้อกุ้งผมแนะนำให้มั่นใจในเรื่องของเกรดกุ้งและราคาครับ สำหรับมือใหม่ควรเริ่มเลี้ยงที่เกรด A หรือ B ไปก่อนครับ เมื่อเริ่มมั่นใว่าเลี้ยงรอด และเข้าใจพวกมันมากขึ้นแล้ว ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเลี้ยงในระดับ S ขึ้นไปครับ ควรซื้อกุ้งกับร้านค้าที่เชื่อถือได้เท่านั้น อาจสอบถามราคาใน Internet เพื่อเป็นแนวทางไว้ก่อนครับ การดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษคือสิ่งที่เจ้าเรดบีต้องการ




ที่มา :http://www.kapank.com/pets/contents/content_24/content_24.html
ภาพบางส่วนเอามาจาก club aqua ครับผม