Friday, September 24, 2010

ปลาหมอ แรมโบลิเวีย (Microgeophagus altispinosus, Bolivian Butterfly Cichlid )

ปลาหมอแรมโบลิเวียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า microgeophagus altispinosa (Haseman, 1911)
มีชื่อทางการค้าว่า Bolivian Butterfly Cichlid
ชื่อ altispinosa เป็นภาษาลาติน แยกออกเป็น 2 คำคือ
Altus แปลว่าสูง และ Spinosus แปลว่าลักษณะที่เป็นหนาม รวมสองคำแล้วแปลว่า “ปลาที่มีครีบกระโดงสูง”
(พิชิต ไทยยืนวงษ์ /มหัศจรรย์พันธุ์ปลาหมอสี พิมพ์ครั้งที่ 1 ISBN 974-90016-2-1 หน้า 82)
โดยเมื่อถูกพบครั้งแรกได้ถูกตั้งชื่อว่า Crenicara altispinosa
ด้วยลักษณะที่คล้ายปลาหมอ รามิเรซ และพบกระจายอยู่ในประเทศ โบลิเวีย จึงถูกตั้งชื่อทางการค้าว่า “ปลาหมอแรมโบลิเวีย”
ลองเอาชื่อวิทย์ของปลาหมอแรมโบลิเวียมาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดู
พบว่าปลาที่สายพันธุ์ดีนั้น สีสันสวยงามกว่าที่คิดไว้มาก
แต่ที่เห็นในบ้านเราจะไม่สวยแบบนี้ อาจเพราะสายพันธุ์ที่ได้มาไม่ดีเพียงพอ
ทำให้ครีบเครื่องครีบต่างๆ ดูหงิกงอ สีสันที่ควรสว่างสดใจ
กลับกลายเป็นเพียงรอยปื้น สีน้ำตาลกระจายไปทั่วลำตัว หัวและหน้าของปลา

อีกประการหนึ่งคือ ฟาร์มที่เพาะพันธุ์ไม่ได้สับสายเลือดของปลา
ทำให้ปลาเลือดชิด ผลผลิตออกมาไม่สวยงามเหมือนที่ตลาดคาดหวังไว้

ปลาหมอแรมโบลิเวียที่สวยนั้น พื้นลำตัวต้องเป็นสีเนื้ออมเทานิดๆ
ส่วนแก้มและแผ่นปิดเหงือกจะมีสีเหลือบฟ้า-เขียวสะท้อนแสง
ตรงช่วงหน้าจนถึงกลางลำตัวควรเป็นสีเหลืองออก ไปจนถึงเหลืองเกือบเข้ม
เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์สีตรงที่ว่านี้จะเข้มขึ้นไปอีก

จนทำให้ผู้ซื้อเอือมระอา หมดอาลัยตายอยาก จนไม่สนใจปลาตัวนี้อีกเลย
บริเวณดวงตาจะมีแถบสีดำพาดผ่านดวงตาทั้งสองข้าง
ตรงกลางลำตัวปรากฏจุดปื้นสีดำขนาดใหญ่ อันเป็นสัญลักษณะของปลาหมออเมริกาใต้หลายๆ ตัว
บริเวณกลางลำตัวช่วงท้าย ไล่ไปจนถึงหางปลาจะมีลายเส้นสีน้ำตาลอ่อนพาดไป-มาจนถึงโคนหาง
เหลือบของเกล็ดเมื่อกระทบแสงแดดที่สาดส่องเข้ามาจะมีเหลือบสีฟ้าบางๆ ดูสวยงามมากทีเดียว

ครีบกระโดงต้องสูง ตรงสง่า ก้านครีบแข็งสามก้านแรกจะมีสีดำสนิท
ส่วนครีบถัดจากนั้นจะมีสีเหลือบเหลือง มีเส้นสีขาวที่ด้านของครีบกระโดง และขลิบด้วยแถบสีชมพูเข้มอีกที
ด้านท้ายสุดของครีบกระโดงจะมีสีออกส้มและมีจุดสีฟ้าสว่าง
ด้านครีบอกจะมีสีชมพูสด ครีบอกจะมีแถบเส้นสีขาว-ฟ้าพาดผ่านประมาณ 4-5 เส้น
ส่วนครีบก้นจะมีสีชมพูเข้ม มีจุดสีขาว-ฟ้า กระจายอยู่ด้านท้ายของครีบ เหมือนช่วงท้ายของครีบกระโดงหลัง
ครีบหางมีลักษณะใส มีก้านครีบพากผ่านไปมาเป็นรูป ตัว วี ในแนวนอน
ขอบบน-ล่างของครีบหางจะมีแถบเส้นสีชมพูเข้มเป็นแนวอยู่ทั้งบนและล่าง
เมื่อปลามีอายุมากขึ้น
เส้นที่ว่านี้จะยาวขึ้นจนเป็นเหมือนเปียสีชมพูเข้มสด ดูน่าหลงใหลมากๆ
ปลาหมอแรมโบลิเวียไม่ใช่ปลาใหญ่โตอะไร ขนาดตัวผู้โตเต็มที่ส่วนใหญ่ก็ราวๆ 3.5 นิ้ว ส่วนตัวเมียเล็กกว่าเล็กน้อย


การแยกปลาเพศผู้-เมียไม่ยากนัก ดูได้จากเครื่องครีบ และสีสันของปลา ที่มีครีบยาว สีเข้ม ก็ตัวผู้
ส่วนตัวที่สีอ่อน เครื่องครีบเล็กและไม่ยาวก็ตัวเมีย
ตัวผู้มักมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนตัวเมียเมื่อพร้อมผสมพันธุ์ส่วนท้องจะอ้วนขึ้น
ผู้เพาะพันธุ์ส่วนใหญ่มักเลี้ยงรวมกันหลายๆ ตัว เพื่อให้ปลาจับคู่

เมื่อปลาจับคู่จะแยกปลาออกมาใส่ไว้ในตู้เพาะ ภายในตู้มีเพียงกรองฟองน้ำ
หาที่หลบซ่อนเพื่อให้ปลารู้สึกปลอดภัยเช่น ขอนไม้ผูกติดกับต้นไม้
จัดวางหินแผ่นเรียบวางลงไปแถวๆ ขอนไม้ หรืออาจจะใช้กระถางดินเผาก็ได้
มื่อปลาทั้งคู่พร้อมผสมพันธุ์แล้ว ปลาทั้งสองจะช่วยกันทำความสะอาดแผ่นหินหรือวัสดุจมใต้น้ำ
ปลาตัวเมียจะวางไข่อย่างเป็นระเบียบก่อน จากนั้นปลาตัวผู้จะเข้ามาฉีดน้ำเชื้อเพื่อให้ไข่เกิดการปฏิสนธิ
กิจกรรมสวาทใช้เวลาซักพัก เมื่อเสร็จสิ้นพ่อปลาจะออกไปเฝ้าระวังภัยรอบๆ
ส่วนแม่ปลาจะเฝ้าบริเวณไข่ และใช้ครีบพัดโบกให้ไข่ได้รับออกซิเจน

แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ถึง 200 ฟอง
การที่เอาขอนไม้วางบังไว้ที่ด้านหน้าของหินที่ปลาวางไข่ เป็นการป้องกันปลาตกใจกินไข่
เนื่องจากเมื่อปลาวางไข่จะค่อนข้างมีการระวังภัยสูง หาสถานที่เพาะพันธุ์มีสิ่งรบกวนมาก
แม่ปลาอาจเครียด และรู้สึกไม่ปลอดภัย จนกินไข่ปลาเสียหมด
การเลี้ยงปลาหมอ แรมโบลิเวีย นั้นไม่ยาก ไม่ง่าย

อันดับแรกเลยคือมักมีคนบอกว่า แรมโบลิเวีย นั้นอยู่ดีๆ ก็ตายจากกันไป
ข้อนี้ผมเคยได้ยิน แต่ไม่เคยประสบกับตัวเองนะครับ
ข้อสังเกตแรกคือ ก่อนซื้อ เราได้ดูสภาพของปลา ขณะที่อยู่ที่ร้านหรือไม่
ว่าสภาพในตู้นั้น น้ำดี มีระบบกรอง สภาพปลาโอเค ไม่หอบ ไม่แอบ ครีบว่ายไม่ห่อ ปลากินและขับถ่ายดีหรือไม่
ก่อนซื้อ ควรถามทางร้านว่า ให้อาหารอะไร ให้ล่าสุดเมื่อไหร่ นั้นจะเป็นตัวบ่งบอกถึงพฤติกรรมของปลาที่เราจะรับมาเลี้ยงได้อย่างดี


ทางที่ดี ขอให้เจ้าของร้านให้อาหารสักเล็กน้อย เพื่อเราจะได้ดูว่าปลาตื่นตัวดีไหม แต่แนะนำให้น้อยๆ พอนะครับ
พอเห็นว่าปลาสภาพดีแล้ว ก็บอกจองเอาไว้ได้เลย เดี๋ยวมาเอา ทิ้งเวลาซัก 3-4 ชั่วโมง
เพราะการขนย้ายปลาในขณะที่ปลาเพิ่งกินนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่ง
เพราะไหนจะต้องโดนไล่ตัก ใส่ถุง อัดอ๊อก และถูกเราหิ้งปุเลง ปุเลง ไป-มา
กว่าจะได้ปล่อยปลามีหวังปลาคงท้องอืด เครียด และไม่พร้อมสำหรับการปรับตัวแน่ๆ ครับ

ขอให้น้ำสะอาดเหมือนการเลี้ยงปลาเล็กทั่วๆไป นักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ชอบเลี้ยงปลาชนิดนี้ในตู้พรรณไม้น้ำที่หนาแน่นซักหน่อย
มีที่หลบซ่อนให้ปลา แต่จะเลี้ยงในตู้ที่ไม่มีต้นไม้น้ำก็ได้เช่นกัน
ใส่ขอนไม้ กระถางดินเผา หินหลายๆ ขนาดลงในตู้ก็ย่อมได้
ในธรรมชาติ ปลาหมอแรมโบลิเวียกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่นตัวอ่อนของแมลงน้ำ ที่อยู่ในสายน้ำรวมไปถึงพวกที่ซุ่มซ่อนในพื้นทราย

พฤติกรรมที่น่ารักในการหากินของมัน ทำให้ผู้เลี้ยงต่างหลงใหลกับวิธีการหาอาหารของมัน
ปลาหมอแรมโบลิเวียมักจะจิกกินอาหารต่างๆ ตามเศษซากใบไม้ ขอนไม้ใต้น้ำ
หากอาหารอยู่ใต้พื้นทราย มันมักจะใช้วิธีจิกลงไปทั้งทรายแล้วร่อนทรายออกจากปาก และเหงือก ส่วนอาหารนั้นจะถูกแยกลงคอไป
พฤติกรรมนี้เหมือนปลาหมอในกลุ่ม Eartheater ทั้งหลายที่เชื่อว่าผู้ที่หลงใหลปลาหมอในกลุ่มอเมริกาใต้ต้องเคยเลี้ยงเป็นแน่

ใน ที่เลี้ยงเราสามารถให้อาหารสำเร็จรูปได้เลย ปลามักจะไม่ปฏิเสธ การให้อาหารควรให้แต่เพียงน้อย ให้เยอะปลาอาจตะกละกินเข้าไปมากจนทำให้ท้องอืดได้
อาหารสดปลานั้นชอบมาก แต่ควรล้างทำความสะอาดให้ดีๆ



เครดิต
คุณ ป_ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย)
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=plaraberd&month=03-10-2009&group=1&gblog=19
http://www.ninekaow.com/wbs/?action=view&sub=05&id=0003298

No comments:

Post a Comment