Saturday, June 20, 2009

บลูชาร์ค ( Cetopsis coecutiens )


เรามาดูลำดับทางอนุกรมวิธานของปลาชนิดกันก่อนตามระเบียบครับ จะได้รู้ว่า มันอยู่ในพวกไหนหรือเป็นญาติกะใครดังนี้
Domain: Eukaryota - Whittaker & Margulis,1978
Kingdom: Animalia - Linnaeus, 1758 - animals
Subkingdom: Bilateria - (Hatschek, 1888) Cavalier-Smith, 1983
Branch: Deuterostomia - Grobben, 1908
Infrakingdom: Chordonia - (Haeckel, 1874) Cavalier-Smith, 1998
Phylum: Chordata - Bateson, 1885 - Chordates
Subphylum: Vertebrata - Cuvier, 1812 - Vertebrates
Infraphylum: Gnathostomata - Auct. - Jawed Vertebrates
Superclass: Osteichthyes - Huxley, 1880 - Bony Fishes
Class: Osteichthyes - Huxley, 1880 - Bony Fishes
Subclass: Actinopterygii - Ray-Finned Fishes
Infraclass: Actinopteri
Cohort: Clupeocephala
Order: Siluriformes
Family: Cetopsidae - Whalelike Catfishes
Genus: Cetopsis- Olivieira, Vari & Ferraris, 2001
Specific name: coecutiens - (Lichtenstein, 1819)
Scientific name: - Cetopsis coecutiens (Lichtenstein, 1819)

หลาย คนคงดูออกทันทีนะครับ จากข้อมูลข้างบนว่า เจ้านี่เป็นเป็นแคทฟิชชนิดหนึ่งนั่นเอง แสดงว่า มันไม่มีเกล็ดหรือเรียกง่ายๆว่าปลาหนัง ถูกจัดอยู่ในครอบครัว Cetopsidae ซึ่งปลาในครอบครัวนี้ จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆกับวาฬ (Whalelike Catfishes) ตามสายตาของฝรั่ง แต่คนไทยอาจมองว่า มันคล้ายฉลามก็ได้ครับ ในเมื่อมันเป็นแคทฟิช ก็หมายความเช่นเดิมครับว่า มันแพ้สารเคมีพวกมาลาไคท์กรีน ฟอร์มาลีน ดิพเทอเร็กซ์ และสารเคมีอันตรายหลายอย่างในท้องตลาดเช่นกัน เวลาใช้ต้องระวังด้วยครับ


ปลาชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cetopsis coecutiens อ่านว่า ซีทอปสิส โคคคูเทียนส์ ถูกบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานครั้งแรกโดย Lichtenstein, 1819 ชื่อสกุล มาจากภาษากรีก cetos ซึ่งแปลว่า วาฬ และคำว่า cosis ซึ่งแปลว่า คล้าย รวมกันเป็นคำแปลว่า คล้ายวาฬ นั่นเอง มีชื่อพ้อง(Synonyms) คือ Silurus coecutiens, Silurus caecutiens ส่วนชื่อสามัญ ก็มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อครับ เช่น Baby Whale Catfish, Blue Shark Catfish, Blue Torpedo Catfish, Blue Whale Catfish, Whale Catfish และ Canero ส่วนนักเลี้ยงปลาแปลกชาวไทย นิยมเรียกมันว่า บลูชาร์ค ทับศัพท์ไปเลยครับ ไม่ต้องไปแปลว่า ฉลามสีน้ำเงิน บางคนอาจเรียก คาเนโร่ ก็มีบ้างเช่นกัน ปลาในสกุลนี้ มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 26 สปีชีส์ครับ แต่สปีชีส์ หรือชนิดที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยบ่อยที่สุด ก็คือ C. coecutiens นั่นเองครับ

การแพร่กระจายและแหล่งที่อยุ่อาศัย
เดาได้ไม่ยากใช่ไหมครับว่า มันต้องมาจากทวีปอเมริกาใต้แน่นอน ใช่แล้วครับ ปลาชนิดนี้พบที่ แม่น้ำหลายสาย ในทวีปอเมริกาใต้ เช่น อเมซอน โทแคนติน และ โอริโนโค่ เป็นต้น ปลาบลูชาร์ค อาศัยหากินอยู่ในน้ำหลายระดับความลึก ตั้งแต่บริเวณพื้นท้องน้ำ จนมาถึงกลางน้ำครับ อุณหภูมิของน้ำในธรรมชาติ อยู่ที่ประมาณ 22-28 องศาเซลเซียส pH 6.0-7.4 เรียกได้ว่า เหมือนๆกับบ้านเรานี่แหละครับ สามารถอยู่ได้ทั้งน้ำไหลและน้ำนิ่ง ตามแต่ที่พวกมันจะว่ายน้ำไปหาเหยื่อได้ แต่ปกติจะพบทั่วไปในแหล่งน้ำไหลขนาดใหญ่ครับ

ลักษณะรูปร่าง นิสัย และอาหาร
ปลาบลูชาร์ค มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม หรือ วาฬ สมชื่อนี่แหละครับ ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ จะงอยปากบนยื่นยาวกว่าจะงอยปากล่าง ดวงตามีขนาดเล็กมาก ลำตัวเพรียวยาว ครีบหลังเป็นรูป สามเหลี่ยมปลายแหลมคล้ายฉลาม มองดูหน้าตาแล้วน่ารักครับ เหมือนปลาตัวนี้ กำลังยิ้มให้เราตลอดเวลา ลำตัวเพียวยาว รูปตอร์ปิโด ไม่พบครีบไขมัน ไม่มีเกล็ด สีของลำตัว ด้านบนเป็นสีน้ำเงินเข้ม ส่วนด้านท้องเป็นสีขาว มีสีเหลือบฟ้าทั่วทั้งลำตัว ขนาดโตเต็มที่ทั่วไป ประมาณ 26 เซนติเมตร แต่ก็สามารถพบขนาดเกิน 1 ฟุตได้บ่อยๆในธรรมชาติครับ

ปลาบลูชาร์ค จัดอยู่ในกลุ่มปลาอันน่ากลัวมากชนิดหนึ่งของโลก ที่มีชื่อว่า ปลา แคนดิรู (Candiru) คนพื้นเมืองรู้ถึงความน่ากลัวของปลาชนิดนี้ดีครับ ปิรันย่า เค้าไม่กลัวกันครับที่นั่น แต่กลัวปลาพวกนี้มากกว่า ปลาในกลุ่มนี้ มีหลายตัวที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิต ในร่างกายสัตว์น้ำ ตลอดจนร่างกายมนุษย์ มีความไวต่อกลิ่นเลือด และแอมโมเนีย เป็นอย่างยิ่ง โดยจะตามเลือดและปัสสาวะไปยังร่างกายของเหยื่อ และเจาะเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวด ทรมาน อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมนุษย์ครับ จะลงน้ำต้องระวัง

ส่วนปลาบลูชาร์คนั้น ไม่มีพฤติกรรมการเป็นปรสิตในร่างกายสัตว์อื่นครับ เพราะมันตัวโตได้เป็นฟุตนั่นเอง แต่ปลาบลูชาร์ค ก็มีพฤติกรรมที่คล้ายๆกันกับญาติๆของมัน นั่นก็คือ ถึงแม้สายตาจะไม่ดี มีดวงตาขนาดเล็ก แต่มันก็มีประสาทรับกลิ่นที่ไวมากๆ โดยเฉพาะกลิ่นเลือด มันเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้รวดเร็วว่องไวอยู่แล้วครับ และว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ เมื่อมันพบปลาที่บาดเจ็บ มีบาดแผล มันก็จะตรงเข้ารุมกัดกิน ปลาตัวนั้นทันที ด้วยความเร็วที่มากกว่าเดิมเสียอีกครับ โดยเริ่มจากที่บาดแผลก่อนครับ การกัดของมันนั้น น่ากลัวครับ เรียกว่า กัดที ก็เนื้อหลุดไปเป็นก้อนๆเล็กๆ เท่าขนาดปากอย่างใดอย่างนั้น ถ้าฝูงหนึ่งมี ร้อยตัว ก็กัดหลายพันครั้งล่ะครับ ไม่นานเนื้อก็หายไปจนหมดตัว ที่น่ากลัวกว่านั้น ปลาบลูชาร์คที่มีขนาดเล็ก ยังมีพฤติกรรม ชอบ ชอนไชเข้าไปในร่างกายเหยื่อ เพื่อกินอวัยวะภายในอีกด้วยครับ ปลาที่เคราะห์ร้ายที่มักโดนเจ้าพวกนี้กินบ่อยๆ ในธรรมชาติ ก็คงหนีไม่พ้นพวกแคทฟิชขนาดใหญ่ที่พบทั่วๆไปในอเมซอน เช่น เรดเทลแคทฟิช (Phractocephalus hemioliopterus) และ ไทเกอร์โชเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum) ที่ทุกๆท่านรู้จักกันดีนั่นเอง มันจะเจาะท้องปลาขนาดใหญ่เข้าไปกินอวัยวะภายในอย่างรวดเร็ว รุนแรง และบ้าคลั่ง ถึงแม้ว่าเราจะเอาปลาโชคร้ายดังกล่าว ขึ้นมาพ้นน้ำแล้วก็ตาม บลูชาร์ค ที่ยังคงอยู่ในท้อง ก็ไม่หยุดกัดกินเครื่องในให้เสียเวลาครับ -*-

การเลี้ยงและการดูแลรักษา
เมื่อเราได้ทราบถึงลักษณะทางชีววิทยาของปลาใดๆ ในธรรมชาติแล้ว เราย่อมปรับปรุงดัดแปลงความรู้ดังกล่าว นำมาใช้เลี้ยงปลาชนิดนั้นๆได้เสมอครับ บลูชาร์ค เป็นปลาที่ว่ายน้ำเร็ว ตลอดเวลา และว่ายอยู่กลางน้ำเป็นส่วนใหญ่ อยู่รวมฝูง กินเก่ง โตเร็ว โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ดังนั้น ตู้ที่ควรใช้เลี้ยงอย่างต่ำ ในระยะยาว ควรเป็นตู้ 48x20x20 นิ้วครับ หรือจะเล็กกว่านั้นก็ได้ ถ้าเลี้ยงจำนวนน้อย เช่น ไม่เกิน 5 ตัว อาจเลี้ยงในตู้ 30-36 นิ้ว ได้อีกนาน ระบบกรอง ใช้ กรองข้าง หรือกรองนอกก็แล้วแต่สะดวก สับสเตรท ก็หินพัมมีสเป็นหลัก ปะการังนิดหน่อย วางด้านบนด้วยใยแก้วเช่นเคย จัดตู้โล่งๆดีที่สุดครับ อาจปูพื้นบางๆด้วยหินกรวดกลม หรืออาจแต่งตู้แบบไม่รกก็ไม่มีปัญหา ปลาชนิดนี้ เป็นปลาฝูงครับ ถ้าจะให้สวย ก็ควรเลี้ยงเป็นฝูง สัก 5 ตัวขึ้นไป แต่ก็สามารถเลี้ยงเดี่ยวหรือน้อยกว่านั้นได้เช่นกัน ไม่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต แต่อาจดูไม่สวยงามเท่าที่ควร จนกว่ามันจะโต คุณภาพน้ำ เป็นเรื่องสำคัญครับ อย่าให้น้ำเน่าน้ำเสียเป็นอันขาด เพราะมันเป็นปลากินของสดและชอบน้ำที่มีออกซิเจนสูง คุณภาพดีครับ ทำระบบกรองของคุณให้มีประสิทธิภาพ การถ่ายน้ำ ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ทุกๆสัปดาห์ เป็นต้น ทำความสะอาดใยแก้วบ่อยๆ และอย่าลืมดูดเศษอาหารที่ด้วยนะครับ

ส่วนอาหาร ถ้าผู้เลี้ยงใจดี จะให้มันกินเรดเทล หรือ ไทเกอร์ฯ เหมือนในธรรมชาติก็ได้นะครับ แต่ถ้าไม่อยากทำแบบนั้น ปลาบลูชาร์ค วัยอ่อนขนาด 1-3 นิ้ว สามารถเลี้ยงด้วย ไรทะเล (ล้างและแช่น้ำจืดก่อนให้สัก 30 นาที) หนอนแดง เป็น หรือแช่แข็ง หรือไส้เดือนน้ำ ลูกน้ำ ได้เป็นอย่างดีและเหมาะสม สลับกับกุ้งฝอยเด็ดหัว เมื่อปลาโตขึ้นสัก 4 นิ้ว ก็ให้เฉพาะกุ้งฝอยเด็ดหัว เนื้อปลาสด เนื้อหอย หรือปลาที่พึ่งตายใหม่ๆก็ได้เช่นกัน และที่สำคัญ ปลาชนิดนี้ เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดได้สบายๆครับ โดยเฉพาะอาหารโปรตีนสูงๆ กลิ่นหอมๆทั้งหลาย เช่นเตทตร้าบิท ปลาพวกนี้ชอบมากๆครับ กินจนท้องกางแทบระเบิด เรียกได้ว่า เป็นปลาที่ไม่เลือกกินและไม่เรื่องมากเรื่องอาหารเลยครับ

ปลาชนิดนี้เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่า มันมีพฤติกรรมการล่าเหยื่ออย่างไร ดังนั้น ผมจึงไม่ขอแนะนำให้ทุกท่านประมาท โดยการนำปลาชนิดอื่นๆใดๆทั้งสิ้น ลงไปเลี้ยงรวมกับพวกมันครับ แค่มีแผลนิดเดียว ก็ทำให้ปลาทั้งฝูง คลั่งได้แล้วครับ ไม่เหลือแน่นอน และที่สำคัญอีกอย่างคือ ถึงแม้ว่าปลาพวกนี้จะเป็นปลารวมฝูง และอยู่ด้วยกันได้ก็ตาม แต่ถ้ามีตัวใดบาดเจ็บ ป่วย หรือมีบาดแผล ควรรีบแยกออกมารักษานะครับ ไม่งั้นเพื่อนๆในฝูงจะช่วยกันส่งผู้ป่วยไปลงนรกได้อย่างรวดเร็วช่นกัน
โรค ที่พบได้บ่อย ก็คือโรคจุดขาว ครับใช้การรักษาเดิมๆครับ หลีกเลี่ยงสารเคมีที่ปลาแคทฟิชแพ้ ส่วนปัญหาอื่นที่พบบ่อยๆก็คือ การป่วย เพราะคุณภาพน้ำไม่ดีเป็นระยะเวลานานๆ ขาดออกซิเจน ปลาก็จะไม่ว่ายน้ำ นอนนิ่งหรือหงายท้องอยู่ก้นตู้ครับ แก้ที่ต้นเหตุ ก็อาจจะรอดได้ ระวัง การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและอุณหภูมิฉับพลันด้วยครับ มันค่อนข้างเซนสิทีฟตรงจุดนี้เช่นกัน

การแยกเพศและการเพาะขยายพันธุ์
ยังไม่มีรายงานการเพาะพันธุ์ปลาบลูชาร์ค ในที่เลี้ยงครับ ส่วนความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า เพศผู้จะมีลำตัวที่เพรียวยาวกว่า และมีครีบหลังที่ชี้ยาวกว่าเพศเมีย เห็นได้ชัดเจนในปลาวัยเจริญพันธุ์ครับ





credit by พี่ต้น Rof เช่นเคยครับ
http://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board5&topic=257&action=view

No comments:

Post a Comment