Tuesday, June 16, 2009

CORYDORAS COLLECTION (กองทัพปลาแพะ)


ปลาแพะ มีขนาดเล็ก และนิสัยไม่ดุร้าย จึงทำให้เข้ากับปลาอื่นได้เกือบทุกชนิดที่ไม่ใช่ปลากินเนื้อะเหมาะอย่างยิ่ง กับตู้ที่จัดตกแต่งไว้อย่างรกครึ้ม เช่น ตู้พรรณไม้น้ำ หรือตู้แบบป่าฝนเขตร้อนที่มักจัดด้วยขอนไม้และพืชน้ำสลับซับซ้อนจนมองแทบไม่ เห็นพื้นกรวด และการทำความสะอาดตู้ก็มักอาศัยวิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำเพียงส่วนเดียว ไม่สามารถใช้สายยางลักน้ำ (Water Siphon) ดูดเอาของเสียจากใต้พื้นกรวดออกมาได้เลย ปลาแพะจะมีบทบาทมากเพราะสามารถซอกซอนชอนไชกินเศษอาหารได้ทุกหลืบมุม จนกลายเป็นแม่บ้านขวัญใจของนักเลี้ยงตู้พรรณไม้น้ำมานานปี

ปลาแพะ จัดอยู่ในกลุ่มของปลาหนัง (catfish) หรือปลาไม่มีเกล็ดขนาดเล็ก แต่มันก็สามารถพัฒนาผิวหนังไร้เกล็ดของมันให้แข็งเหมือนเกราะเพื่อปกป้อง อันตรายจากศัตรูได้ดียิ่งกว่าเกล็ดจริงๆเสียอีก อาวุธป้องกันตัวของมันแทบไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากก้านแข็งของครีบว่ายน้ำ ทำให้ปลาอื่นที่หวังจะเคลมมันเข้าท้องทำได้ด้วยความยากลำบาก ลักษณะภายนอกของปลาแพะนั้นดูตลก รูปร่างของมันค่อนข้างป้อม ลำตัวกลม ส่วนหัวค่อนข้างโตกว่าลำตัว ที่ปากมีหนวดสั้นๆ ยื่นออกมาสำหรับคลำหาอาหาร หนวดที่ว่านี้ดูผิวเผินคล้ายเคราของแพะ นักเลี้ยงปลาบ้านเราเลยนิยมเรียกเจ้าปลาชนิดนี้ว่า "ปลาแพะ" ในขณะที่ฝรั่งจะเรียกมันว่า "คอรี่" ซึ่งก็มาจากชื่อสกุลของมันคือ Corydoras

ปลาแพะ เป็นปลาขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แต่ก็มีบางชนิดที่อาจใหญ่กว่านั้นเล็กน้อย ปลาแพะ มีจำนวนชนิดพันธุ์มากมายหลายสิบชนิด แต่ละชนิดแตกต่างกันทางรูปร่างและลวดลายสีสัน บางชนิดอ้วนป้อมมาก เช่น แพะเขียวโบรคิส (Brochis splendens) ซึ่งเป็นแพะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โตเต็มที่ตัวเมียจะมีความยาวถึง 9 เซนติเมตร จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "ปลาแพะยักษ์"แหล่งอาศัยตามธรรมชาติของปลาแพะอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำอเมซอนที่มีสาขามากมายกว้างใหญ่ไพศาล พวกมันจะหากินเป็นฝูงตามหน้าดิน โดยใช้ซากต้นไม้ใบไม้ที่ซ้อนทับถมกันเป็นเครื่องกำบังซ่อนตัวจากผู้ล่า ปลาตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ รูปร่างอ้วน ท้องกลมจนดูหัวเล็ก ส่วนตัวผู้ลำตัวจะเรียวกว่ามาก

ปลาแพะ เลี้ยงง่าย มีความอดทนสูง ราคาถูก ไม่ค่อยจะมีปัญหามากนัก แม้กระทั่งในบ่อที่ออกซิเจนต่ำก็สามารถเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดี เพราะมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษ และหากเศษอาหารไม่ค่อยจะมีให้กิน พวกมันก็ยังสามารถปรับตัวโผขึ้นมาแย่งอาหารจากผิวหน้าน้ำเหมือนกับปลาอื่นๆ ได้เช่นกัน การเลี้ยงปลาแพะควรระมัดระวังเรื่องของกรวดที่ใช้ปูพื้น หลีกเลี่ยงกรวดมีคมหรือหินเกล็ดซึ่งอาจทำอันตรายกับหนวดของปลาแพะเวลาคุ้ยหา อาหารได้ ในธรรมชาติปลาแพะไม่ค่อยชอบแสง ในตู้ควรมีวัสดุตกแต่งจำพวกพืชน้ำ ขอนไม้ หรือก้อนหินใหญ่ เพื่อพรางแสงลงและเพื่อให้ปลาได้ใช้หลบซ่อนตัวเวลาที่มันกินอิ่มต้องการพักผ่อน
ปลาแพะเลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆ ได้แทบทุกชนิดที่ไม่ดุร้าย อาหารของมันนอกจากเศษตกๆ หล่นๆ ที่ปลาอื่นในตู้กินเหลือแล้ว อาจจะต้องเสริมเพิ่มพิเศษให้บ้างเพื่อความสมบูรณ์ของตัวมันเอง ในธรรมชาติปลาแพะกินสิ่งมีชีวิตที่หลบซุกซ่อนตัวอยู่บริเวณผิวหน้าของดิน เช่น ตัวอ่อนแมลงน้ำ ไส้เดือน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เราอาจเสริมอาหารปลาแพะด้วยไส้เดือนน้ำโดยโรยไส้เดือนลงบนพื้นกรวดโดยตรง เพื่อให้ไส้เดือนชอนไชลงใต้ผิวกรวด ปลาแพะจะใช้หนวดของมันคลำหาและจับกินด้วยพฤติกรรมตามอย่างธรรมชาติของมัน

นอกเหนือจากไส้เดือนน้ำ อาจสลับให้อาหารสำเร็จรูปที่ออกแบบมาสำหรับปลาแพะโดยเฉพาะ ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านขายปลา ลักษณะคล้ายแผ่นกลมๆเล็กๆอัดแน่น จมน้ำเร็วแต่ละลายช้ามาก อาหารประเภทนี้มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับปลาแพะมากที่สุด แต่ก็อาจจะราคาสูงสักนิด การให้ไม่จำเป็นต้องให้ทุกมื้อหรือทุกวัน แต่ให้แบบสลับนานๆที เพื่อให้ปลามีสุขภาพแข็งแรงอ้วนท้วนและอายุยืนนาน ปลาแพะที่ถูกเลี้ยงสมบูรณ์ดีจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึงสิบปีทีเดียวเชียวครับ

การผสมพันธุ์ของปลาแพะทำได้เป็นบางชนิด ปลาตัวเมียเมื่อมีไข่สุกท้องจะอวบอูมป่องออกมาผิดสังเกต ในระยะนี้จะมีแพะตัวผู้เข้าไปเคลียคลอก้อร่อก้อติกอยู่เกือบตลอดเวลา และมักมีตัวผู้มากกว่าหนึ่งตัวต่อการผสมพันธุ์หนึ่งครั้ง เมื่อถึงเวลาปลาตัวผู้จะเข้าไปสั่นร่างเป็นสัญญาณเชิญชวน และถ้าตัวเมียพร้อมมันก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการขยับเข้าหา ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกให้ตัวเมียอมไว้ในปาก จากนั้นตัวเมียจะออกไข่มาจำนวนหนึ่งแล้วอุ้มไว้ด้วยครีบท้องที่มีลักษณะกลม กว้างคล้ายตะกร้า มองหาทำเลวางไข่ซึ่งก็มักจะเป็นบริเวณที่มีพรรณไม้ร่มครึ้มและมีใบแผ่เช่น ต้นอเมซอน (Echinodoras) พอเจอที่จะวางไข่ แม่ปลาจะพ่นน้ำเชื้อในปากลงบนใบไม้ก่อนเอาไข่ที่อุ้มไว้แปะลงไป หลังจากนั้นก็ทำวิธีการเดียวกันซ้ำอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งไข่หมดท้อง ซึ่งก็จะมีราวๆ300 ฟอง พวกมันไม่ค่อยสนใจดูแลไข่นัก ปล่อยให้ฟักเป็นตัวออกมาเองภายในสามวัน ลูกปลาระยะแรกจะยังมีถุงอาหารที่เรียกว่าถุงไข่แดงติดอยู่ตรงท้อง และจะใช้อาหารเหล่านี้หมดไปภายในสามสี่วัน หลังจากนั้นก็จะต้องว่ายหาจับกินแพลงตอนที่ลอยมาตามน้ำกินกันไปตามอัธยาศัย

ปลาแพะ ที่มีเลี้ยงกันทั่วไปและราคาไม่แพงเลยก็คือ ปลาแพะสีบรอนซ์หรือแพะเอนีอุส (Corydoras aeneus) บ้านเราเรียกว่า "แพะเขียว" ซึ่งก็มีสายพันธุ์ที่ผ่าเหล่าออกมาจากเอนีอุสเป็นปลาเผือก (Albino) ลำตัวสีขาวนวลอมชมพูนัยน์ตาสีแดง ก็เรียกว่า "แพะเผือก" สองตัวนี้เพาะง่ายที่สุด สามารถเพาะเล่นๆ ในตู้ได้เลย ถ้าปลามีอายุมากพอ ส่วนปลาแพะอื่นๆ โดยมากมักเพาะพันธุ์ยากถึงยากมาก บางชนิดถึงได้มีราคาแพง ตัวหนึ่งเป็นร้อยๆ บาท ในขณะที่แพะเขียวแพะเผือกแค่ไม่กี่บาท แต่ทุกชนิดเลี้ยงง่ายเหมือนกันหมดครับ

ชื่อของปลาแพะแต่ละตัว อยู่ในภาพเรียบร้อยข้างล่างแล้วนะครับเป็น CORYDORAS COLLECTION ของคุณ Angle007 จาก clubaquaplanet ครับสวยมากๆ


















































credit บทความของคุณ torz จาก http://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board5&topic=148&action=view
ส่วนภาพถ่าย คุณ Angle007 จาก http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=34418.0

1 comment:

  1. ชอบปลาแพะมากเลยค่ะ กำลังลองเลี้ยงดูสองตัว น่ารักดี ตอนนี้มีตัวมีสีขาวกับสีดำ ขอบคุณสำหรับข้อมูลมากนะคะ

    (ไอ้ปลาแพะสีทองนี่สวยมาก ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ไม่รู้หาได้ที่ไหน อยากได้จัง)

    ReplyDelete